เมนู

ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

ดูวิดีโอเล่าเรื่องครูเอื้อ<คลิ๊ก

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

       เอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๓ ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ"

       ครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๔๖0 บิดาได้พาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท เอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง จึงเลือกเรียนดนตรีฝรั่งกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต โดยมีอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

       หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีก อย่างหนึ่งด้วย ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เป็นต้นไป 

      ๒ ปีต่อมา ความสามารถของครูเอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน ๕ บาท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เงินเดือนเพิ่มเป็น๒0 บาท และ ๒ ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

       ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ครูเอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น ๔0 บาท และ ๕0 บาทใน ๒ ปีต่อมา

       นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ครูเอื้อยัง มีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง "ยอดตองต้องลม" ขึ้น นับเป็นเพลงแรกในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติ ให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง ครูเอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย

       ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อว่า บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "ถ่านไฟเก่า" ครูเอื้อมีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย

       จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง ครูเอื้อ  จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย

       จากนั้นอีก ๑ ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของครูเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร

       และนี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ ๒0 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘

      ครูเอื้อ  ได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็น ผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของ ราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับครูเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น และในตอนนั้นครูเอื้อกำลังตกหลุมรักคุณอาภรณ์ จึงได้จังหวะในการนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์

       ครูเอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จนต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก ๒ ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และในปีนี้ ครูเอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑0 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

      วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ ๓0 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ ๒0 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒

   พูดถึงครูเอื้อ

โดย..เวส สุนทรจามร
แหล่งที่มา : หนังสือ เอื้อ สุนทรสนาน ๕ รอบ (๒๑ มกราคม ๒๕๑๔)
      ในวง " สุนทราภรณ์ " ทุกวันนี้ ผมอายุมากที่สุด เพราะขณะนี้ผมอายุ ๖๘ ปี … (พ.ศ.๒๕๑๔) ใน ระยะเวลาอันยาวนานของชีวิตดนตรี มันเป็นระยะเวลาที่ผมกับคุณเอื้อ สุนทรสนาน ได้ร่วมวงกันมากที่สุด แทบจะเรียกได้ว่า เราบรรเลงเพลงด้วยกันตลอดมา ผมฝึกวิชาดนตรีกับ พ.ต. อั้น ดีวิมล ตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ หลังจากนั้นได้เข้าประจำวงดนตรีกองเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ จนกระทั่งวันสำคัญมาถึง
วันนั้น...
       ไม่ว่าผมหรือคุณเอื้อ สุนทรสนาน หรือใครๆ ที่ร่วมวงด้วยกัน มีความคิดเช่นเดียวกันที่จะมาอยู่วงใหม่จากความอุปถัมภ์ของ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ มันเป็นวันประวัติศาสตร์ของผม ของคุณเอื้อ และสำคัญที่สุดก็คือวันประวัติศาสตร์ของดนตรี " สุนทราภรณ์ " เรายกพวกกันมาตั้งวง โดยยกให้คุณเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้า พวกเราผนึกกำลังกันแบบสามัคคีปรองดอง มีเรื่องอะไรก็ถ้อยทีถ้อยปรึกษากัน
คุณ เอื้อ สุนทรสนาน ไม่ได้คิดตั้งตัวเป็นนายพวกเราให้สมกับที่ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าวง แต่ปกครองพวกเราอย่างพี่อย่างน้อง และก็คงเพราะอัจฉริยะและวิธีการปกครองเช่นนี้ จึงทำให้ดนตรีวงนี้เจริญยั่งยืนมาด้วยระยะเวลาอันยาวนานถึง ๓๐ ปีเศษ
ใน ความยั่งยืนของวงดนตรี และในความยั่งยืนแข็งแรงสำหรับวัย ๖๐ ของคุณเอื้อ สุนทรสนาน ในวันนี้ ผมขออำนาจคุณพระรัตนตรัยจงคุ้มครองให้ดนตรีวงนี้และหัวหน้าวง เอื้อ สุนทรสนาน จงมีอายุยืนนาน เพื่อที่จะให้ได้รับใช้ชาติ รับใช้ประชาชนต่อไปให้นานแสนนาน 

คุณเอื้อฯ ที่ผมรู้จัก โดย...แก้ว อัจฉริยะ กุล 
โดย...แก้ว อัจฉริยะกุล
แหล่งที่มา หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเอื้อ สุนทรสนาน ตจว. จช. ณ 
วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๕
….คืนหนึ่ง ดึกประมาณตีสอง ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ กรุงเทพพระมหานครอยู่ในสภาพพรางไฟมืดตื๋อไปทั้งเมือง เพราะประเทศไทยอยู่ในฐานะสงคราม ที่จริงก็สงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นเอง แต่สงครามทางภาคนี้ของโลก ญี่ปุ่นตั้งชื่อให้อย่างโก้หรูว่า สงครามมหาเอเซียบูรพา และสมัยนั้นมีการ “จี้” กันทั่วแทบทุกหัวระแหง และแทบมิเว้นแต่ละคืน แต่….

      เขา (คุณเอื้อฯ) กับผมยังเดินอยู่สองคนโดยโดดเดี่ยว ตามถนนสายเปลี่ยวจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันโรงแรมรอแยล) จะไปถนนราชวิถี หลังจากได้กินอยู่หลับนอนมาด้วยกันที่โรงแรมรัตนโกสินทร์มาหลายเพลา โดยถูก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (อดีตอธิบดีกรมตำรวจ บัดนี้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว) คุมตัวเขากับผมให้ไปสิงสู่อยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยสั่งคุณสงัด วสุธาร (หัวหน้ากองโรงแรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเช่นกัน) ดูแลเขาและผมไม่ให้ออกนอกโรงแรมไปไหนจนหว่าจะแต่งเพลงให้เสร็จ โดยมีคำสั่งจากคุณเผ่าฯ ว่าจะกินอยู่หลับนอนอย่างไร จะกินอะไร จะดื่มอะไร ให้บอกเขา หรือจะเอาอะไรก็ได้ทั้งนั้น ฟรีทุกอย่าง จะอยู่กี่วันกี่คืนก็ฟรีทุกอย่าง ขออย่างเดียวน้องแต่งเพลงให้เสร็จเรียบร้อย

      สมัยนั้น คณะสุนทราภรณ์จะต้องออกแสดงรายการเพลงบนเวทีโรงภาพยนต์โอเดียน (เดี๋ยวนี้คือ นิวโอเดียน – สามแยก) ซึ่งครั้งนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาทรัพย์สินผลประโยชน์ของคนต่างด้าว ซึ่งโรงภาพยนต์โอเดียนก็เป็นทรัพย์สินของชนต่างด้าวเขากับผมสองคนสิงสู่อยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์หลายคืนอยู่ และเราสองคนก็กินเสียอย่างเต็มคราบ อาหารฝรั่งอย่างดี เหล้าที่ซื้อตามท้องตลาดไม่ได้ ตราขาวเอย ตราดำเอย เรามีกินอย่างไม่อั้น ทุกเวลาและทุกเมื่อ จนกระทั่งคืนหนึ่ง ผมรู้สึกอึดอัดในการที่ถูกกักบริเวณอย่างนั้น ผมจึงคบคิดกับเขาว่าเราสองคนนี้สิงสู่อยู่ที่รัตนโกสินทร์มานานหลายแล้ว กินก็กินเสียจนเกรงใจ อยู่ก็ไม่ค่อยได้อยู่ นอนก็นอนไม่ค่อยหลับ นอนเล่นบ้างเป็นบางครั้งเท่านั้น นอกนั้นก็ใช้เวลาเขียนเพลงกันอยู่ตลอดเวลา

“เรากลับบ้านกันเสียทีดีไหม?” ผมออกความคิด
“ก็ดี ชักคิดถึงบ้านแล้วเหมือนกัน” เขาว่า “พรุ่งนี้เราไปทำงานแล้ว เรากลับบ้านเลยนะ”
“ทำไมต้องคอยพรุ่งนี้ด้วยล่ะ? ไปกันเดี๋ยวนี้เลยเป็นไง” ผมว่า 
“เรามีกระเป๋าคนละใบเท่านั้น”
“เดี๋ยวนี้ไปกันได้ยังไง? จะตีสองอยู่แล้วนะ ถนนก็มืดตื๋อ สามล้อก็คงไม่มี เราต่างคนต่างแยกกันกลับบ้านก็ต้องเดินไป ดีไม่ดีถูกจี้ระหว่างทางเราก็หมดตัว มิหนำซ้ำจะถูกทำร้ายเอาด้วย”
“คุณมีปืนมาสองกระบอกไม่ใช่หรือ” ผมถาม เขาพยักหน้า
“แบ่งให้ผมถือกระบอกหนึ่ง แล้วเราออกเดินทางจากนี่ไป จากนี่เดินไปบ้านคุณที่ราชวิถีก่อน แล้วผมเอารถจักรยานขี่จากบ้านคุณไปบ้านผมที่วงเวียนใหญ่-ฝั่งธนฯ”
“แถวบ้านผมมีนักจี้แยะเสียด้วย” เขาว่า
“ไม่เป็นไร” ผมว่า “นอกจากเรามีปืนแล้ว เรายังมี พระสมเด็จห้อยคอ อยู่อีกด้วย อาราธนาไว้คุ้มภัยได้ถมไป”
“เอา ตกลง ไปก็ไป”

      เขากับผมก็พร้อมใจกันหนีออกจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ไป เดินกันไปคุยกันหนุงหนิงไปตลอดทางไม่มีรถโดยสารอะไรผ่านมาสักคันเดียว
“นี่ถ้าคุณเผ่าฯ รู้เข้าว่าเราหนีกลับบ้าน คงโกรธตายห่ะ” 
ตอนหนึ่งเข้าเอ่ยขึ้นในระหว่างทางที่เดินไป
“ไม่เป็นไรหรอก” ผมว่า “ถ้าท่านมาต่อว่า หรือมาดุมาด่า เราก็บอกว่า เหลืออีกเพลงเดียวเท่านั้น พรุ่งนี้ก็เสร็จ เราอย่าพูดถึงเรื่องนี้เลยดีกว่า ตอนนี้ถนนหนทางไม่มีมนุษย์เลย นอกจากเราสองคน ถ้าเราได้ยินเสียง “ตุ๊บ” ละก็ต้อง เปรี้ยง เชียวนะ”
ตุ๊บ คือเสียงที่โดดลงจากต้นไม้ เปรี้ยง! คือเสียงปืนที่เราต้องยิงออกไป เพราะในสมัยนั้น ปรากฏบ่อย ๆ ว่า พวกผู้ร้ายนักจี้ 
มักจะปีนต้นไม้ขึ้นไปซุ่มอยู่ พอเหยื่อเดินมาก็กระโดดตุ๊บลงมา
“คุณยิงแม่นไหม?” ผมถามต่อไป
“ก็ไม่แม่นหรอก แต่ก็ยิงคนไม่ผิดแน่” เขาตอบ
แต่แล้วเราก็ลุรอดปลอดภัยตลอดทางจนถึงบ้าน

      เขากับผมไม่ใช่รู้จักกันมาแต่เพียง พ.ศ.๒๔๘๖ ดังที่เล่ามา ผมรู้จักมาก่อนนั้น และได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๖ ร่วม ๔0 ปี มาแล้วเขาเป็นหัวหน้าวงดนตรี เป็นทั้งนักดนตรี และเป็นทั้งนักร้องที่ทุกคนรู้จักดีเขาเกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นลูกคนสุดท้องของพ่อ เนื่องจากพ่อเป็นผู้มีฝีมือในศิลปะ แกะสลักหนังหุ่นได้อย่างประณีต เชิดหนังใหญ่ได้เป็นยอดเยี่ยม ลูกของแกจึงเป็นศิลปินมีชื่อทั้งนั้น หมื่นไพเราะพจมาน พี่ชายของเขาก็เป็นนักพากย์โขนตัวฉกาจแห่งราชสำนักครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

      เมื่อเด็ก ๆ เขาเป็นคนตัวเล็กไม่สูงชะลูดอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แม้ผิวจะคล้ำตามวิสัยของคนต่างจังหวัด แต่ก็ดูจะผ่องใสมากกว่าพี่ ๆ พ่อจึงตั้งชื่อให้ว่า “ ละออ ” และได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนราษฎร์บูรณะที่สมุทรสาครนั่นเองเด็กชายละออผู้นี้มีนิสัยรุ่มร่ามอยู่อย่างหนึ่ง ชอบทำหม้อข้าวแตก ถ้าคดข้าวที่ไหนต้องคดข้าวให้ทัพพีกระแทกกับข้างหม้อข้าวจนทะลุที่นั้น ไม่รู้กี่ใบต่อกี่ใบ จนชาวบ้านแถบอัมพวาตั้งสมญาให้ว่า “พ่อละออหม้อแตก”

      พ่อแกเห็นว่า ถ้าขืนชื่อละออ คงซื้อหม้อข้าวกันไม่หวาดไม่ไหว จึงไปอำเภอขอแก้สำมะโนครัวเสียใหม่จากละออมาเป็น “บุญเอื้อ” ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่า จะไม่มีการทำลายกันอีก แล้วก็ส่งเข้ามาให้ได้รับการอบรมอยู่กับพี่ชาย ซึ่งเป็นขุนนาง คือ หมื่นไพเราะพจมาน

      เด็กชายละออหรือในชื่อใหม่ว่า บุญเอื้อ เป็นเด็กเรียบร้อย ชอบและสนใจในเรื่องพระเรื่องเจ้าตั้งแต่เล็ก ๆ รับศีลได้ถูกต้องแม่นยำ แม้แต่ต่อพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จนสมเด็จฯ ทรงโปรด เอ่ยพระโอษฐ์ขอต่อพ่อว่าถ้าอายุได้ ๑๑ ขวบเมื่อไร ให้ส่งตัวมาถวาย แต่จนแล้วจนรอดกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต เด็กชายผู้นี้ก็ไม่ได้ถูกส่งตัวเข้าไปถวาย มิฉะนั้นทุกวันนี้เขาคงไม่มีชื่อเป็น “ศิลปิน” ที่ใคร ๆ รู้จัก แต่คงจะได้เป็นพระมหาเปรียญที่อุบาสกอุบาสิการู้จักเท่านั้น

      เมื่อพ่อส่งตัวมากรุงเทพนั้น อายุได้เพียง ๕ ขวบเท่านั้น ได้มาเรียนภาษาอังกฤษจากพี่สะใภ้ ซึ่งเป็นลูกศิษย์แหม่มโคล์ วังหลัง (ทุกวันนี้รู้จักกันว่า “วัฒนาวิทยาลัย”) เขาถูกพี่สะใภ้เคี่ยวเข็ญด้วยเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษมากเกินไป จึงเผ่นหนีกลับมาอยู่กับพ่อที่อัมพวาอีก
      คราวนี้พี่ชายก็จับส่งให้เข้าเรียนที่โรงเรียนโฆสิตสโมสร เรียนบ้างไม่เรียนบ้างก็ตามเรื่อง เวลาพี่ชายไปพากย์โขนที่ไหนก็ติดตามไปด้วยกลิ่นไอของศิลปินก็เริ่มจับขั้วหัวใจ จึงถูกส่งเข้าไปเป็นนักเรียนพรานหลวง
      หลักสูตรในโรงเรียนพรานหลวงนั้น เข้าเรียนวิชาสามัญครึ่งวัน เรียนวิชาศิลปินอีกครึ่งวันโดยหมุนเวียน เรียนดนตรีสากล ดนตรีไทย โขน และรำ ใครถนัดอย่างไหนก็ไปเรียนอย่างนั้น แต่เด็กชายบุญเอื้อไม่ต้องวนเวียนเหมือนนักเรียนอื่น ถูกบังคับให้เรียนแต่ดนตรีสากลอย่างเดียว อยู่ใต้สังกัดและบังคับบัญชาของพระพำนักนัจนิกร รองเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงผู้เป็นอา ซึ่งตอนนั้นเขาอายุได้เท่านั้น

      เขาเรียนซอจากครู ๓ คน คือ คุณฉะอ้อน (โฉลก) เนตสูต (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) ขุนสำเนียงชั้นเชิง(หม่อมหลวงโกมลรัตน์) และหลวงดนตรีบรรเลง (กุล เสนะวีณิน์) พออายุ ๑๒ ขวบ ก็สอบได้มีบรรดาศักดิ์เป็นเด็กชาตรี ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๕ บาท ได้เข้าเรียนร่วมวงซิมโฟนีกับเขาด้วย นั่งสีซอบนเก้าอี้เท้ายังไม่ถึงพื้น ตอนนี้แหละใครเห็นใครก็เอ็นดู และได้พบกับนารถ ถาวรบุตร ตอนนี้แหละครูนารถก็รับไปอยู่ด้วย สอนวิชาแหวกแนวจากในสมัยนั้นให้ คือ การสีซอแบบแจ๊ส และได้ให้ไปสีซอตามคาบาเร่ต์ต่าง ๆ ซึ่งมีการเต้นรำในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งความจริงให้ได้นอนหลับมากกว่า เพราะอายุเพียงเท่านั้นจะทนให้อดตาหลับขับตานอนเหมือนผู้ใหญ่ย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงได้สีซอบ้างเวลาเขาเต้นรำกัน ซึ่งมีน้อยเต็มทีเท่านั้น อดนอนกลางคืนแล้วยังมิหนำซ้ำต้องไปทำงานในหน้าที่เด็กชาอีกในเวลากลางวัน

      เขาหากินอยู่อย่างนี้พักหนึ่งก็เผ่นมาอยู่กับพี่ชายและไปอยู่ที่สโมสรเสือป่า และตอนนี้เลยกลายเป็นคนอยู่ไม่เป็นที่ ไม่ชอบอยู่กับญาติ ชอบชีวิตอิสระ ตุหรัดตุเหร่อยู่กับคนโน้นบ้าง คนนี้บ้างเรื่อยไป ในเวลาเดียวกัน คุณพระเจนดุริยางค์ ต้องการคนเป่าปี่ (แคลริเน็ต) และเป่าแซ็กโซโฟนเพิ่มขึ้นอีก และเห็นว่าคนเป่าแซ็กโซโฟนหรือเป่าแคลริเน็ตจะต้องมีหูแม่น ผู้ที่จะมีหูแม่นคือ คนซอ ดังนั้น เขาจึงได้รับเลือกเข้าไปเรียนวิชาเป่าปี่และแซ็กโซโฟนแล้วเขาก็เป่าได้ดีเสียด้วย

      ชีวิตการเป็นเด็กชาของเขาก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากฝึกซ้อมดนตรีแล้วก็คอยวิ่งตามรถยนต์พระที่นั่งเป็นบางคราว ในเวลามีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนวชิราวุธกับโรงเรียนพรานหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มักจะเสด็จไปทอดพระเนตรเสมอ และเวลาเสด็จกลับพวกนักเรียนพรานหลวงก็มักจะวิ่งไปเกาะรถพระที่นั่ง แล้วเปล่งเสียงร้องไชโยด้วย ซึ่งพระองค์ก็มิได้ทรงถือ กลับทรงโบกพระหัตถ์ลูบหลังลูบไหล่ด้วยพระพักตร์อันยิ้มแย้มแจ่มใส

      สมัยนั้น มีสถานกาแฟอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า “กาแฟนรสิงห์” มีคอนเสิร์ทบรรเลงทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๑๗.00 น. ถึง ๒๑.00 น. พระเจนดุริยางค์เป็นผู้ควบคุมวงและเขาก็ต้องไปนั่งบรรเลงด้วยทุกครั้งไป ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช (กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา) ก็ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สืบต่อมา


       ในครั้งนั้น ได้มีการตัดและยุบดุลย์ข้าราชการออกเป็นการใหญ่ บางแห่งต้องถูกยุบเป็นกรม ๆ ก็มี กรมที่เขาอยู่ก็ถูกยุบ แต่ตัวเขาไม่ได้ยุบเหมือนคนอื่น มิหนำซ้ำยังได้เงินเดือนขึ้นเสียอีก จากเดือนละ ๕ บาทเป็น ๒๐ บาท ขึ้นพรวดเดียว ๑๕ บาท ตอนนี้เขากลับไปอยู่กับพี่ชายอีก เพราะไม่มีที่อยู่ ที่ทำงานก็ย้ายไปย้ายมา เขาได้เงินเดือนขึ้นครั้งนั้นก็ถูกย้ายมาอยู่กรมอัศวราช (ม้าหลวง) ซึ่งนอกจากอยู่ในฐานะและลักษณะของนักดนตรีที่เรียกว่า “แตรม้า” แล้ว ยังจะต้องเลี้ยงม้าอีกด้วย แต่เขากลัวมัน สัตว์เดรัจฉานอย่างม้าหลวง เขากลัวมันเพราะเมื่อเด็ก ๆ เขาเคยถูกสุนัขกัดมาแล้ว เขาก็เลยเห็นสัตว์หน้าขนแม้แต่ม้าหลวงซึ่งได้รับการฝึกปรือมาแล้วก็เป็นสัตว์ที่ไว้ใจไม่ได้ แม้แต่วันแรกที่เข้าขึ้นขี่ม้า บรรดาคนอื่น ๆ ต่างพากันเอ็ดอึงว่า

“เฮ้ย! ใครปล่อยให้ไอ้เด็กคนนี้ขี่ไอ้หมึก (ชื่อม้า) ละ? เอ! ไอ้เด็กขี่ไอ้หมึกเชียวเรอะ”

      เขาก็เลยคิดว่า ไอ้หมึกที่เขาเลี้ยงนี้คงไม่ใช่เล่น ความที่กลัวอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มความกลัวขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ทั้ง ๆ ที่ไอ้หมึกไม่เคยทำอะไรให้เข้าเลย ครั้นแล้ววันหนึ่ง วันนั้นเขาพาไอ้หมึกวิ่งแล้วก็เลยเอาเชือกที่จูงผูกมันพันไว้กับต้นไม้แล้ววิ่งหนีไป และไม่ยอมแตะต้องไอ้หมึกอีกต่อไป

      กรมมหรสพที่เขาสังกัดอยู่ก็เลิกล้มไป มาขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง แล้วต่อมาไม่นานก็กลายมาเป็น กรมศิลปากร จนกระทั่งทุกวันนี้ในระหว่างที่เขาอยู่กรมศิลปากร เขามีความสามารถในเรื่องดนตรีทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ดังปรากฏผลจากการสอบของ “บุญเอื้อ” ว่าสอบได้ที่หนึ่ง ในการสอบฟังด้วยหู (Ear Training) ซึ่งเหมือนกับการเขียนตามคำบอก โดยไม่ใช่บอกด้วยปากอันเป็นทำนอง (Melody) เพียงเสียงเดียวเท่านั้น แต่ต้องเขียนลงไปทั้งคอร์ด (Chord) ให้รู้ว่าเป็นคอร์ดอะไรด้วย โดยใช้เสียงเปียโนเป็นเครื่องบอกเสียง ซึ่งกดลิ้นครั้งเดียวดังตั้งสิบเสียง ครั้นถึงคราวสอบประสานเสียง เขากลับสอบได้ที่สอง ทั้งนี้เนื่องจากความประมาทนั่นเอง

      ในตอนนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงคำนึงถึงหลักการของเพลงไทยเดิมว่ายังไม่เป็นหลักเป็นฐาน นักดนตรีก็ดี นักร้องก็ดี ที่บรรเลงและร้องได้ก็ด้วยการใช้วิธี “ต่อ” ให้กัน คนหนึ่ง ๆ ก็ไม่เพลงไทยเดิมบันทึกไว้ในสมองนับไม่ถ้วนเพลงและนานไปบรรดาพวกที่บรรทุกเพลงไทยเดิมไว้แต่ในสมอง ก็ต้องมีวันสิ้นไปตามกฎธรรมชาติ เพลงไทยเดิมก็จะต้องพลอยสูญสิ้นไปด้วย และอีกประการหนึ่ง การ “ต่อ” เพลงไทยเดิมในสมัยโบราณดึกดำบรรพ์นั้น ครู “ต่อ” ให้หลานศิษย์ เหลนศิษย์ โหลนศิษย์ ก็พากันขยักกันเอาไว้เป็นทอด ๆ สืบมา เหตุที่ต้องขยักไว้นี้เป็นการ “ขยัก” เม็ดเด็ดเอาไว้ เพื่อกันลูกศิษย์คิดล้างครู ครูแต่ละคนหยักไว้คนละเม็ดเท่านั้น ตั้งแต่สมัยโบราณดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยนี้ “เม็ดเด็ด” จะเหลือสักกี่เม็ด ด้วยวิธีนี้ จะทำให้เพลงไทยเดิมสูญไป ดังนั้น เสด็จในกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงโปรดให้จดเพลงไทยไว้ให้หมดทุกเพลง จะได้เป็นมาตรฐานเสียที คุณพระเจนดุริยางค์จึงสั่งให้นาย “ละออหม้อแตก” หรือ “นายบุญเอื้อ” ผู้สอบ (Ear Training) ได้ที่หนึ่งนี่แหละไปเป็นคนจด

      การจดนั้น ไปจดจากการฟังบรรดาครูเพลงไทยเดิมที่ดีด สี ตี เป่า ให้ฟัง เช่น เขาไปจดจากการเป่าปี่ของนายเทวา ประสิทธิ์ พาทยโกศล (บุตรของจางวางทั่ว) เป็นต้น ซึ่งเขาจดได้ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีผิดไม่มีเพี้ยนแล้วก็มาให้คนลายมือดี ลอกลงไปอีกต่อหนึ่งเพลงเหล่านั้นยังมีหลักฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไม่ปรากฏชื่อคนจด ปรากฏแต่ชื่อคนลอกและคนเป่าปี่เท่านั้น

       ในระหว่างที่นายบุญเอื้อหรือพ่อละออหม้อแตกอยู่ที่กรมศิลปากร ก็ยังคงหากินด้วยการเล่นดนตรีตามบาร์ต่าง ๆ อยู่ ซึ่งเป็นการเล่นตั้งแต่เด็กจนโต และจากการตระเวนเล่นตามบาร์ต่าง ๆ นี่เอง ได้พาให้รู้จักกับหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ผมเคยเขียนเรื่องของหลวงสุขุมฯ ไว้หลายครั้งแล้ว ในครั้งนี้จึงของดไว้ เพราะถ้าเขียนอีกมันก็จะยาวเกินไป) และหลวงสุขุมฯ กับพวกเราก็ได้มาผูกพันกันในด้านดนตรีและเพลงจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน

         จากการเล่นดนตรีตามบาร์ก็มาหาลำไพ่จากการเล่นดนตรีกับคณะละคร เช่น คณะปรีดาลัยบ้าง คณะแม่เลื่อนบ้าง และจากนั้นเขาก็ได้ควบคุมวงดนตรีไทยฟิล์ม (ของเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล) และเริ่มเป็นนักแต่งเพลงมีชื่อ เป็นนักร้องที่มีแววเสียงแปลกกว่าคนอื่น

          นอกจากเข้าได้ตระเวนบรรเลงตามบาร์ต่าง ๆ แล้ว ยังได้ตะเวนสีซอแต่งเพลงตามคณะละครต่าง ๆ เช่น คณะ “แม่เลื่อน” เป็นต้น 
          ชีวิตตอนนี้เป็นชีวิตที่สนุกตามประสาหนุ่มคะนองมีเงินใช้ก็ใช้ ไม่มีเงินใช้ก็ทนอดมื้อกินมื้อ อยู่กับเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งเคยเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน และตระเวรไปเล่นดนตรีตามบาร์ด้วยกัน เช่น จำปา เล้มสำราญ ถึงแก่กรรมไปราว ๓๐ กว่าปีแล้ว และสังข์ อสัตถวาสี (เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสบายเพราะถูกรถเมล์ชน)

          “บุญเอื้อ” เป็นคนรู้จักสร้างตัว เพราะเคยหิวจนใส้กิ่วมาแล้ว หิวขนาดต้องเดินเก็บฝักมะขามที่ท้องสนามหลวงกินรองท้องแก้หิว กินเสียจนท้องเสียและเป็นโรคลำไสิ เขาเข็ดต่อชีวิตที่ต้องตุหรัดตุเหร่เป็นพ่อนกขมิ้น เข็ดต่อการผจญภัยอดมื้อกินมื้อ ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง พ.ศ.๒๔๘๒ ประจวบเหมาะ สำนักงานโฆษณาการก่อตั้งขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ และคุณวิลาศ โอสถานนท์ จะต้องเป็นอธิบดี คุณวิลาศฯ ได้ขอโอนข้าราชการจากกองการกระจายเสียงกรมไปรษณีย์โทรเลขมาอยู่กรมโฆษณาการ และเนื่องจากจะต้องมีวงดนตรีหนึ่งวง คุณวิลาศฯ จึงได้ชักชวน “เขา” ให้มาอยู่ด้วย “เขา” จึงรวบรวมเพื่อนฝูงพรรคพวกที่เคยร่วมงานกันอยู่ครั้งสมับกรมศิลปากรและไทยฟิล์มให้มาอยู่ด้วยกัน และ “เขา” ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวง

       จากเด็กชาย “ละออหม้อแตก” ต้องเปลี่ยนเป็นเด็กชายบุญเอื้อ และแล้วก็ต้องเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อครั้งสงครามมหาเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างรัฐนิยม ปรากฏว่าชื่อ “บุญเอื้อ” เป็นชื่อผู้หญิง จึงต้องตัดคำว่า “บุญ” ออก เหลือแต่ “เอื้อ” ตลอดมาครั้นมา พ.ศ.๒๔๘๙ ชีวิตโลดแล่นของคนหนุ่มก็สิ้นสุดลง เขาถูกพระกามเทพแผลงศรปักอก ได้พบยอดดวงใจที่ปรารถนามาช้านานแล้ว “เขา” ได้แต่งงานกับคุณอาภรณ์ กรรณสูตร และได้ทายาทคนหนึ่งชื่อ “อติพร”อันนามแฝงว่า “สุนทราภรณ์” นั้นเป็นชื่อที่ “ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง” เพื่อนคู่หูได้ตั้งให้โดยเอาคำว่า “สุนทร” จาก “สุนทรสนาน” มาสนธิกันกับคำว่า “อาภรณ์” มาเป็น “สุนทราภรณ์” และด้วยชื่อ “สุนทราภรณ์” ได้โด่งดังก้องไปทั่วไประเทศ และยังดังไปถึงต่างประเทศด้วย คุณเอื้อฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความขยันขันแข็งและสามารถมาตลอด นอกจากนำเพลงเอก ๆ ชั้นยอดออกแสดงให้ประชาชนชมตามโรงมหรสพต่าง ๆ จนชื่อ “สุนทราภรณ์” มีชื่อเสียงดังลั่นไปทั่วแล้ว 

       ยังได้เคยนำวงบรรเลงถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ อีกด้วยหลายครั้งหลายหน ถวายความจงรักภักดีในวาระต่าง ๆ ไม่เคยขาด เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกพระองค์และวันคล้ายวันอภิเษกสมรสนับเป็นสิบ ๆ ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสามารถว่า มีความดีความชอบ จึงได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์เป็นอันดับแรก โดยได้รับจากพระหัตถ์ทีเดียว และในตอนหลัง เมื่อปี ๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

       อันชิวิตคนเรา ก็มีดีบ้างมีมรสุมบ้างเป็นธรรมดา มีคนชอบก็มีคนชัง เขาชอบเข้าก็ชม เขาชังเขาก็ด่า เขาเคยถูกด่าทางหนังสือพิมพ์อย่างเกรียวกราว แต่เขาก็ไม่เคยโต้ตอบ ไม่เคยแก้ กลับหัวเราะเสมอ ๆ จนมีคนอื่นโต้ตอบแทนทางหนังสือพิมพ์ จนเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นเบาลง เบาบางและหายไปในที่สุด

        มันเป็นกฎอันแน่นอนที่ธรรมชาติตั้งไว้ให้ สัตว์โลกทั้งหลายย่อมหนีไม่พ้นกฎนี้ นั่นคือเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีการยกเว้นไม่ว่ารูปนามใด คุณเอื้อฯ ก็เป็นสัตว์โลกผู้หนึ่งที่หนีกฎธรรมชาตินี้ไม่พ้น และในที่สุดคุณเอื้อฯ ก็จากไปจริง ๆ จากไปอย่างไม่มีวันกลับ จากไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

         ผมคิดถึงคุณเอื้อฯ คิดถึงอย่างบอกไม่ถูก เพราะใคร ๆ เขาก็รู้ว่าผมกับคุณเอื้อฯ มีความผูกพันกันเพียงไหน ผมได้เล่าให้ฟังถึงคุณเอื้อฯ ที่ผมรู้จัก ผมเล่าตามถนัดของผม ผมกับคุณเอื้อฯ ไม่ใช่รู้จักกันมา ๒๐-๓๐ ปี และผมเข้าใจว่าที่ผมเขียนมาแต่ต้นจนจบ คงไม่ซ้ำกับของใคร ผมเขียนตามประสาของผม 
“คุณเอื้อที่ผมรู้จัก”




 บทเพลงสุนทราภรณ์ ไพเราะตรงไหน 

       ๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ ผมเดินเข้าสู่ธนาคารออมสินสาขาสี่แยกคอกวัวในตอนสายๆ เพื่อส่งเพลงเข้าประกวดในโอกาสเฉลิมฉลอง ๗๒ ปี การก่อตั้งธนาคารออมสิน เจ้าหน้าที่บอกให้ผมขึ้นไปส่งที่ชั้นสองกับ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ฯ พอพบ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ฯ ผมจำได้ว่าท่านคือ คุณปฐมทัศน์ สัชฌุกร ที่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านไปช่วยเล่นดนตรีในงานสมรสธิดาเพื่อนรักของท่านท่านที่โคราช คุณวิเชียร บุนนาค ผู้จัดการออมสินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       งานสมรสครั้งนั้นจัด ที่ โคราชโฮเตล คุณปฐมทัศน์ นี้ผมรู้กิตติศัพท์ท่านมาก่อนว่าท่านเป็น “ยอดนักแอคคอเดียน ประจำวงดนตรีธนาคารออมสิน” แต่เพิ่งประจักษ์สายตาอย่างแท้จริงก็คืนนั้นที่โคราชโฮเตล ฝีมือแอคคอเดียนของท่านพลิ้วจริงๆ มือขวาไล่ไปตามคีย์บอร์ดขึ้นลงอย่างแม่นยำ สำเนียงที่ออกมาเข้ากับอารมณ์เพลงอย่างแนบเนียน มือซ้ายกดปุ่มเบสที่มีนับไม่ถ้วน อย่างแม่นยำแม่นจังหวะ คืนนั้นได้แต่ชื่นชมท่านอยู่ห่างๆ

       ๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ เมื่อมีโอกาสพบท่าน ผมจึงหาทางที่จะคุยกับท่านให้มากที่สุด มีผู้นำผมไปพบท่าน ท่านรับไหว้ ยิ้มอย่างมีเมตตา รับงานผมไปพิจารณา เขียนใบรับงานให้ไว้เป็นหลักฐาน

        เสร็จสรรพจากเรื่องงานท่านก็ชวนคุย สอบถามถึงสถานะภาพทางดนตรี ผมก็บอกไป ท่านก็บอกว่า “พี่นอกจากทำงานในหน้าที่ หัวหน้ากองการประชาสัมพันธ์ธนาคารออมสินแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่ หัวหน้าวงดนตรีธนาคารออมสินด้วย” เมื่อรู้ว่าผมเรียนมาทาง “Jazz Band” ท่านก็เล่าถึง วงดนตรีแจ๊สฝรั่ง ให้ฟัง แล้วก็เล่าถึง วงดนตรีแเจ๊สเมืองไทย อย่างออกรส ทำให้ผมได้ความรู้มากมายในวันนั้น เมื่อมาถึง วงดนตรีสุนทราภรณ์ แทนที่จะเล่าให้ฟังเหมือนวงดนตรีอื่นๆ ท่านกลับตั้งคำถามว่า “น้องชอบฟังเพลงสุนทราภรณ์ไหม” 

“ชอบครับ” ผมตอบ 
“น้องว่า เพลงสุนทราภรณ์ เพราะตรงไหน” ท่านถาม ผมได้แต่ยิ้ม คนมีความรู้ทางดนตรีแค่หางอึ่งอย่างผมจะมีปัญญาไปวิเคราะห์อะไรได้ 

“น้องเชื่อไหม ว่าพี่ชอบเพลงสุนทราภรณ์ที่สุด” ผมได้แต่ทำตาปริบๆ ไม่อยากจะเชื่อว่า “นักดนตรีใหญ่ที่อยู่ต่างวงจะชื่นชมกันอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่แล้ว มักชื่นชมกันแต่ต่อหน้า แล้วจะดูถูกทับถมกันลับหลัง” 

      เหมือนท่านจะอ่านใจผมออก จึงพูดต่อไปว่า“พี่พูดด้วยใจจริงนะ ในวงดนตรีของทางราชการทั้งหมดนี่ ทุกวงก็มีเครื่องดนตรีในจำนวนและคุณภาพที่ไม่ต่างกัน มีนักดนตรีเก่งๆไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน แต่ทำไมไม่มีวงใดมีชื่อเสียงเทียบเท่าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยที่ครูเอื้อคุมวงอยู่” (ครูเอื้อ ก่อตั้งวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ - สุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๒๔) แล้วท่านก็แจกแจงให้ฟังว่า

“ด้าน ทำนอง ไม่ต้องพูดถึง ครูเอื้อท่านมีอัจฉริยะเรื่องการเขียนทำนองอย่างยากจะหาใครเทียบได้” (คุณถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์ แห่ง สมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ระบุใน “หนังสือครูเพลง” ว่า ครูเอื้อแต่งทำนองเพลงให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ประมาณ 2 พันเพลง) เมื่อเห็นผมนั่งฟังตาแป๋วพยักหน้าหงึกๆ จึงพูดต่อไปว่า 

“นอก จากนี้ ครูเอื้อท่านยังโชคดี ได้นักเขียนทำนองชั้นยอดที่มีลีลาต่างกันมาเสริมทีม เช่น ทำนองเพลงสนุกๆ จาก ครูธนิต ผลประเสริฐ (สุขกันเถอะเรา ดาวล้อมเดือน จุดไต้ตำตอ ช่าช่าช่าพาเพลิน ลืมไม่ลง รำวงสาวบ้านแต้ รำวงมาลัยรจนา ฯลฯ) ทำนองเพลงเศร้าๆ จาก ครูสริ ยงยุทธ (กำศรวลรัก ตกดึกนึกเศร้า ชั่วคืนเดียว ฯลฯ) ทำนองเพลงที่สง่างาม จาก ครูเวส สุนทรจามร (หงส์เหิน ริมฝั่งน้ำ บุพเพสันนิวาส น้ำตาลใกล้มด นางในฝัน ฯลฯ) ทำนองเพลงหวานๆ จาก ครูสมศักดิ์ เทพานนท์ (รักเธอเสมอ ฯลฯ) ทำนองเพลงชมธรรมชาติ จาก ครูสมพงษ์ ทิพยกลิน (ดอกพุดตาน ท่องทะเลทอง ใต้แสงจันทร์ ฯลฯ)

       นักแต่งเพลงกิตติมศักดิ์ ที่มาช่วยเสริมด้านทำนอง ก็มี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ผู้ร่วมก่อตั้งวง - เกาะสวาท เมื่อไหร่จะให้พบ ไม่อยากจากเธอ รักไม่ลืม สิ้นรักสิ้นสุข ชายไร้เชิง คนึงครวญ) ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (แต่งได้ทั้งทำนองและคำร้อง - ฝากรัก เสี่ยงรัก เพ้อรัก จากรัก ห่วงรัก รำวงชาวทะเล ชะตาฟ้า เธอนะเธอ สาวงาม นางกลางเมือง ขยี้ใจ ฯลฯ) พล.ท. ม.ล. ขาบ กุญชรฯ (อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ใช้นามแฝงในการแต่งเพลงว่า “อ.ป.ส.” - ข้องจิต คิดไม่ถึง คนึงฝัน พรั่นรัก) ครูพยงค์ มุกดา (ศิลปินแห่งชาติ - ฉันเป็นของเธอ ฝั่งหัวใจ)

       ด้านคำร้อง แค่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คนเดียวก็เหลือกิน (กังหันต้องลม ขวัญใจจุฬา คิดถึง จังหวะชีวิต เพื่อเธอ พรานทะเล วังน้ำวน หงส์เหิน ชุดจุฬาตรีคูณ ฯลฯ) แต่ครูเอื้อท่านโชคดี ได้มือเขียนคำร้องระดับครูมาช่วยอีก เช่น ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ (กุหลาบดำ ลาทีปากน้ำ พัทยาลาก่อน ฟ้าแดง ฟลอร์เฟื่องฟ้า เริงลีลาศ หิมพานต์ ตาอินกะตานา ฯลฯ) ครูสุรัฐ พุกกะเวส (พระเจ้าทั้งห้า อุษาสวาท ปทุมมาลย์ น้ำตาลใกล้มด งอนแต่งาม สุดสงวน ฯลฯ) ครูธาตรี (กุญแจใจ เสียดายเดือน สมมติว่าเขารัก ร้ายกว่าผี มั่นใจไม่รัก ตัดสวาท เพื่อคุณ ขยี้ใจ รักวันเติมวัน ลาภูพิงค์ ใกล้มือคว้า ฯลฯ) ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ (ถึงเธอ รักบังใบ หนึ่งในดวงใจ ข้องจิต ขอเป็นจันทร์ จนนาง รักเอาบุญ ฝากลมวอน ดอกพุดตาน สำคัญที่ใจ ฯลฯ) ครูพรพิรุณ (ขอให้เหมือนเดิม กว่าจะรักกันได้ ฝนเอย ใจชายใจหญิง ฉันยังคอย อาลัยปีเก่า ฯลฯ) ครูสวัสดิ์ ธงศรีเจริญ (ฝากหมอน คมตา คมปาก สูญถิ่นสิ้นไทย ฯลฯ) ทวีปวร (นิมิตสวรรค์ ศกุนดลา มนต์รักนวลจันทร์ โดมในดวงใจ ธรรมศาสตร์เกรียงไกร โดมร่มใจ ฯลฯ) ยังมีอีกมากมาย เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวน้องจะเบื่อ” ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่า

“ผมน่ะฟังเรื่องของสุ นทราภรณ์ไม่มีวันเบื่อหรอกครับแต่ที่ไม่ขอให้พี่เล่าต่อเพราะกลัวพี่จะ เหนื่อยต่างหาก” แล้ว พี่ปฐมทัศน์ ก็กล่าวชื่นชม การเรียงเสียงประสาน ในวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยเฉพาะฝีมือของ คุณคีติ คีตากร (บิลลี่ ชาวฟิลิปปินส์) ครูเพิ่ม คล้ายบรรเลง คุณวัฒนา ชื่นสุวรรณ และ คุณชะอุ่ม สาณะเสน แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า
“น้องสังเกตไหม ดนตรีต้นเพลง (Introduction) และ ดนตรีจบเพลง (Ending) ของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มีความไพเราะทุกเพลง ไม่มีเพลงไหนที่ไม่เพราะ” 

“อืมมมมม.....” ผมครางในลำคออย่างเห็นด้วย

“ส่วนนักร้องไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่คนฟังพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว”

        ผมพยักหน้าน้อยๆ มองสบตาท่านอย่างเห็นด้วย แล้วท่านก็สรุปว่า 
“ด้วย ตนตรีที่สมบูรณ์แบบ บวกกับ การถ่ายทอดอันยอดเยี่ยมของนักร้องบวกกับ ความพิถีพิถันของครูเอื้อ จึงทำให้บทเพลงสุนทราภรณ์มีชีวิตมีวิญญาณ ใครได้ฟังจึงเกิดการซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณทีละเล็กทีละน้อย จนฝังจิตติดแน่นยากจะทอดทิ้งลืมเลือน”

       ถึงตรงนี้ท่านเหลือบมองนาฬิกาที่ฝาผนัง แล้วพูดกับผมว่า 
“อ้าว เกือบเที่ยงแล้วเหรอ วันนี้พี่นัดลูกวงซ้อมที่สำนักงานใหญ่ตอนบ่ายโมง ไปนั่งฟังดนตรีออมสินสักวันซี เดี๋ยวไปกินข้าวด้วยกันที่สำนักงานใหญ่” ผมปฏิเสธ เกรงใจด้วยท่านจะต้องไปทำงาน จึงขอบพระคุณ แล้วกราบลา 

ทุกวันนี้ก็ได้แต่ระลึกถึง ไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้ ด้วยท่านไปอยู่ต่างภพแล้ว
 

         เพลงพระเจ้าทั้งห้า(ซึ่งนำมาเป็นแบรคกราว์วเสียงของบทความนี้) นับเป็นเพลงสุดท้ายของครูเอื้อที่ท่านร้องบันทึกเสียง  โดยขอให้ครูสุรัฐ พุกกะเวส แต่งเนื้อ เมื่อรู้ตัวเองว่าเป็นมะเร็ง และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว โดยบอกความประสงค์ เป็นแนวในการใส่คำร้อง และบันทึกเทปเอาไว้

          โดยท่อนสุดท้ายของเพลงครูสุรัฐได้ประพันธ์ว่า  "อนุสรณ์สุดท้ายจากหัวใจสุนทราภรณ์"  โดยมี ครูดำ พูลสุข สุริยพงษ์รังษีเป็นผู้เดินทางไปรับเนื้อเพลงนี้มาให้ครูเอื้อ 

           ครูเอื้อได้ให้ไปตามครูยรรยงค์ เสลานนท์มาให้ต่อเพลงนี้ เพราะคิดว่าท่านคงจะร้องเองไม่ไหว แต่ได้รับเสียงคัดค้านจากทั้งครูดำและครูยรรยงค์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพลงประจำตัวครูเอื้อ ท่านต้องร้องเอง สุดท้ายครูเอื้อจึงยอมตามที่หลานและลูกศิษย์แนะนำ

              และครูดำได้ขอร้องให้แก้เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายเป็น "อนุสรณ์ฝากไว้จากหัวใจสุนทราภรณ์" ครูดำให้เหตุผลว่ารับไม่ได้กับคำที่ว่า อนุสรณ์สุดท้าย จึงยืนยันขอแก้เป็นอนุสรณ์ฝากไว้ ซึ่งครูเอื้อก็เห็นด้วย

               และครูดำได้พาไปเข้าห้องบันทึกเสียง Rota ที่ซอยศูนย์วิจัย ผู้ควบคุมการบันทึกเสียงชื่อ "หมู" มีผู้ตามไปด้วยอีก 2 คนคือบรรจงจิตต์และพรศุลี ระหว่างการบันทึกเสียงร้องครูเอื้อต้องพักเป็นระยะๆ เพราะมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว ทำให้หายใจลำบากมีอาการหอบ ต้องใช้วิธีตัดต่อเสียงทั้งเพลง

เสียงไวโอลินของเพลงนี้ "กินใจ" ยิ่งกว่าเพลงใดๆทั้งหมด เป็นเสียงไวโอลินที่ไพเราะกินใจ ได้อารมณ์อย่างที่สุด เรียกนำตาได้ทุกครั้งที่ได้ยิน
อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์(บุตรสาวครูเอื้อ-admin)
๑๑.๐๕.๔๘ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘

เพลงรักจำร้าง ครูวินัย-คุณศรีสุดา 

7.mp3

เพลงหนาวลมห่มรัก ครูวินัย-คุณชวลีย์ ช่วงวิทย์ 

6.mp3

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola