ดนตรีทางครูเอื้อ ..... โดย ใหญ่ นภายน แหล่งที่มา : หนังสือ อารมณ์ขันและปกิณกะคดี ของ ใหญ่ นภายนหน้า ๙๒ - ๑๐๐

ท่านที่เคารพ ... อยู่ๆ ผมก็ขึ้นไตเติลหัวเรื่องข้อเขียนของผมที่ท่านได้อ่านไปแล้ว ทางดนตรีอะไร (วะ) ทำไมดนตรีจึงต้องมีทางด้วย ขอประทานโทษ ... กรุณาใจเย็นๆ ผมจะอธิบายให้ท่านหายกังขาประเดี๋ยวนี้แหละ

ในการบรรเลงเพลงไทย ไม่ว่าจะเป็นปี่พาทย์ วงมโหรี วงเครื่องสาย วงแตรวง ( วงแตรวงนี้ทางราชการเขาเรียกว่า วงโยธวาทิต ) แต่ละวงจะบรรเลงทั้งเพลงเถา, เพลงตับ, เพลงเรื่อง, เพลงขับร้อง และก็เพลงสองชั้น ผู้บรรเลงจะต้องบรรเลงตามแนวที่ได้ต่อมาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแต่ละสำนัก ดังนั้น ... แนวในการบรรเลงทั้งลีลา ทั้งสำเนียง ทั้งลูกล้อลูกขัด จึงไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ไม่เหมือนกันนั้น เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

 ท่านที่มีความรู้ทางดนตรีไทยคงจะได้ยินคำเหล่านี้มาบ้างแล้ว คือ ทางฝั่งข้างโน้นกับทางฝั่งข้างนี้ของดนตรีไทย ความหมายของคำทั้งสองคำนี้ก็คือ สมัยก่อนนั้นจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดคู่แฝดกัน ถ้าเราข้ามไปทางฝั่งธนบุรีก็จะเรียกว่า ไปฝั่งข้างโน้น ถ้าเป็นคนที่อยู่ทางฝั่งธนบุรีข้ามไปทางจังหวัดพระนคร ก็จะบอกว่าไปฝั่งข้างนี้ สมัยก่อนเขาเรียกกันอย่างนี้จริงๆ แต่เมื่อมีความเจริญมากขึ้น ทางราชการก็เลยรวมจังหวัดทั้งสองเข้าเป็นจังหวัดเดียวกัน แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกว่าฝั่งข้างโน้นกับฝั่งข้างนี้เหมือนเดิม

ทีนี้ คำว่าทางฝั่งข้างโน้นกับวงดนตรีไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างไร (แหม... พูดหยั่งกะโปรเฟสเซอร์ทางดนตรีแน่ะ) สืบเนื่องมาว่า ทางฝั่งธนบุรีมีปรมาจารย์ทางเพลงไทยท่านหนึ่งมีนามว่า ท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ท่านปลูกเรือนอยู่ที่หลังวัดกัลยาณมิตรฝั่งธนบุรี อดีตท่านเป็นนักดนตรีฝีมือเอกของวงพิณพาทย์บางขุนพรหม ซึ่งเป็นวงดนตรีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และท่านครูครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ยังมีความรู้ทางโน้ตสากล สามารถแยกเสียงประสาน (Aranger) ให้วงโยธวาทิตบรรเลงได้อีกด้วย ทั้งนี้โดยการฝึกสอนของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ

 ดังนั้นฯ ... ในฐานะที่ท่านเป็นนักดนตรีฝีมือเยี่ยม และเป็นหัวหน้าวงดนตรีด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการปรับปรุงการบรรเลงทั้งลีลาทั้งสำเนียงและแนวการบรรเลงเพลงต่างๆ ไม่ให้เหมือนใคร บางวรรคบางตอนท่านได้คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ให้เป็นทางของท่าน เพื่อใช้ในการประชันวง ฉะนั้นบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านจึงต้องต่อเพลงในแนวที่ท่านแต่งปรับปรุงขึ้นใหม่ ทุกคนจะยึดถือปฏิบัติกันมาจนแทบทุกวันนี้ การบรรเลงเพลงในแนวนี้จึงเรียกว่า ทางฝั่งข้างโน้นทั้งทางการบรรเลงและในแนวทางการขับร้อง

 ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องสักเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่า ผมนั้นไปได้ข้อมูลมาจากที่ไหน

 ครั้งหนึ่ง ... ผมเคยรับราชการเป็นทหารดุริยางค์ อยู่ที่ทุ่งพญาไท มีวงดนตรีสี่แผนก คือ วงโยธวาทิต ภายในวงนี้มีสารพัด วงปี่พาทย์ วงมโหรี วงเครื่องสาย ในวงมีนักดนตรีไทยฝีมือเยี่ยมมาก ขณะนั้นทางราชการยังไม่ได้แบ่งสัดส่วนเป็นหน่วยๆ ไป วงดนตรีโยธวาทิตนี่หละเป็นที่มีนักดนตรีลูกศิษย์ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล เท่าที่ผมรู้จักและชอบพอกันมากก็คือ ส.อ.ฉ่ำ เกิดใจตรง ส.อ.พังพอน แตงเถาตาย ส.อ.ยรรยง โปร่งน้ำใจ ส.อ.ประสาน ปัทมเวณุ จ่าสิบเอกนพ ศรีเพชรดี นอกจากศิษย์ของท่านครูแล้ว ผมยังมีโอกาสได้รู้จักกับบุตรชายและบุตรสาวของท่านครูอีก บุตรชายคนโตนั้นผมเรียกท่านว่า พี่เทวาแต่นามจริงคือ ครูเทวาประสิทธิ พาทยโกศล ผู้แต่งเพลง มหาจุฬาลงกรณ์เป็นทางไทย ส่วนบุตรหญิงนั้นผมเรียกท่านว่า พี่ฑูรนามจริงคือ คุณหญิงไพฑูร กิตติวรรณ ท่านเคยเป็นพระอาจารย์ทางเพลงไทยถวายแด่ สมเด็จพระเทพฯ

นอกจากวงดนตรีโยธวาทิตที่ผมกล่าวไปแล้ว ยังมีวงดนตรีจุลดุริยางค์ หรือวงดนตรีออร์เคสตรานั่นหละ กับวงหัสดนตรี หรือวงดนตรี แจซซ์ที่มีชื่อว่า ดุริยะโยธิน ที่ผมทำมาหากินอยู่กับวงนี้จนมียศถึงจ่าสิบเอก โก้ไม่หยอกนะจะบอกให้

ทีนี้ก็ขอวกกลับมาเข้าเรื่องเดิม

 คำว่า ทางฝั่งข้างนี้ก็เช่นเดียวกัน คือเกิดขึ้นเพราะว่ามีท่านปรมาจารย์ทางเพลงไทยอีกท่านหนึ่งซึ่งมีนามว่า จางวางศร ศิลปบรรเลง ต่อมาท่านได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนามว่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ท่านมีบ้านเรือนปลูกอยู่ที่ตำบลบ้านบาตร จังหวัดพระนคร อดีตท่านเป็นนักดนตรีฝีมือเอกของวงปี่พาทย์วังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเป็นวงดนตรีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ในฐานะที่ท่านเป็นนักดนตรีฝีมือเอก และเป็นหัวหน้าวงดนตรีด้วย ท่านจึงได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการบรรเลงให้เป็นไปในทางที่ท่านคิดได้ ไม่ว่าจะเป็นลีลา สำเนียง ของแนวเพลงต่างๆ ที่ท่านบรรเลงอยู่นั้น ให้เป็นไปในทางที่ท่านได้คิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อไว้ใช้ในการบรรเลงประชันวง ฉะนั้น...บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านแทบทุกคนจึงได้ยึดถือแนวเพลงของท่านไว้บรรเลง และก็ได้ยึดถือปฏิบัติกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อไปบรรเลงที่ไหนใครได้ยินได้ฟังก็จะบอกได้เลยว่าเป็น ทางฝั่งข้างนี้เพราะแนวทางการบรรเลงและแนวทางร้องไม่เหมือนทางฝั่งข้างโน้น

เอาล่ะท่าน...ทีนี้ท่านก็คงจะต้องถามผมว่า แล้วไอ้แนวดนตรีทางครูเอื้อนั้นมันไปเกี่ยวข้องกันยังไงกับ ทางฝั่งข้างโน้นกับทางฝั่งข้างนี้ล่ะ ทั้งๆ ที่มันเป็นดนตรีสากล

เรื่องมันเป็นอย่างนี้นะขอรับ

กรุณาฟังให้ดีนะขอรับ อันว่าคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้นี้ท่านมีเชื้อสายชาวอัมพวา ดินแดนแห่งดนตรีของสมุทรสงคราม เมื่อสมัยเด็กๆ ได้เดินทางเข้าบางกอกกับพี่ชาย ซึ่งรับราชการอยู่ที่กรมมหรสพหลวง จึงได้พาเด็กชายละออ หม้อใหญ่ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบุญเอื้อ และต่อมา ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ตัดเอาคำว่าบุญออกคงเหลือแต่คำว่า เอื้อเท่านั้น) ไปสมัครนักเรียนพรานหลวงก่อนแล้วย้ายไปเป็นนักเรียนดุริยางค์กองเครื่องสายฝรั่งหลวงศึกษาวิชาการทฤษฎีแห่งการดนตรีจากท่านศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสอน คุณครูเอื้อเป็นเด็กที่สมองดีปัญญาเลิศ จึงศึกษาได้เร็ว จนมีความชำนาญทั้งภาคทฤษฎีทั้งภาคปฎิบัติ ได้รับหน้าที่ในตำแหน่ง ไวโอลินประจำวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่เป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเซียสมัยนั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ถ้าไม่เก่งจริง

ครั้นกาลเวลาผ่านไป จึงได้รับหน้าที่สำคัญมากในการอนุรักษ์เพลงไทยไว้ให้แผ่นดิน เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษา คุณครูเอื้อได้เป็นผู้จดบันทึกเพลงไทยให้เป็นโน้ตสากลไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนักศึกษาสถาบันต่างๆ จะได้ทราบทำนองเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ที่หอสมุดพระนคร (ปัจจุบันคือกรมศิลปากร) การจดบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลในครั้งนั้นเป็นพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตสมัยนั้น ในราวปี ๒๔๗๓ ๒๔๗๕ โดยมีหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นหัวหน้าราชการในกรมปี่พาทย์หลวง เป็นฝ่ายบอกทำนองเพลงไทย และให้ท่านเสวกโทพระเจนดุริยางค์ ปลัดกรม กองเครื่องสายฝรั่งหลวง มีหน้าที่นำ

 ข้าราชการในสังกัดมาเป็นผู้จดบันทึกโน้ตสากล เท่าที่พอจะจำได้ ผู้ที่จดบันทึกในครั้งนั้น คือ

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ระนาดเอก

ครูสมพงษ์ ทิพยกะลิน ปี่

ครูสริ ยงยุทธ ระนาดทุ้ม ฆ้อง

ครูสังเวียน แก้วทิพย์ ฆ้องเล็ก

 ครูทั้ง ๔ ท่านนี่ละครับ ต่อมาภายหลังได้มาเป็นกำลังสำคัญในวงดนตรีลีลาศ กรมโฆษณาการ ที่ทำให้คุณครูเอื้อ สุนทรสนานได้รับความรู้ทางด้านเพลงไทยโดยปริยายอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง จนมีความชำนาญและความสามารถ นำทำนองเพลงไทยมาขยายได้อย่างมากในทางเพลงสากล

 วันเวลาผ่านไปอีก ครูเอื้อได้รับความรู้เพิ่มเติมถึงวิธีการบรรเลงเพลงประเภทแจซซ์อย่างชำนิชำนาญ โดยมีครูที่เป็นนักเปียโนฝีมือเอกได้พาท่านตระเวนไปเล่นดนตรีตามไนต์คลับ ตามเบียร์ฮอลล์ ตามโฮเต็ลต่างๆ จนได้วิชาการทางแขนงเพลงแจซซ์ขึ้นมาอีกแขนงหนึ่ง นี่คือประสบการณ์จากชีวิตจริงที่ท่านได้ศึกษาทางนี้มาโดยเฉพาะ จนมีความสามารถนำมาเป็นหลักการในแนวปฏิบัติของท่านได้อย่างสมจริง สำหรับ ครูที่ท่านให้ความเคารพนับถือประดุจพี่ชายตราบชั่วชีวิตก็คือ ครูนารถ ถาวรบุตร

สรุปแล้ว คุณครูเอื้อท่านได้รับความรู้ทางดนตรีถึง ๓ แขนงวิชาด้วยกัน นั่นคือ ดนตรีสากลทางด้านคลาสสิก ทางด้านแจซซ์ บวกกับทางเพลงไทย ซึ่งท่านใช้เวลาในการจดบันทึกเพลงไทยทั้งเพลงเถา เพลงตับ เพลงขับร้อง เพลงเรื่อง ตลอดไปจนถึงเพลง ๒ ชั้น เป็นโน้ตสากล เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วเสร็จหนึ่งชุดรวมทั้งสกอร์ด้วย เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ฉะนั้น ... จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไม ทำไม ทำไม ท่านจะคิดประดิษฐ์แต่งการบรรเลงให้เป็น ทางของท่านบ้างไม่ได้เชียวรึ ... แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ต้องหยุดการบันทึกโน้ตสากลไป ก็เพราะว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ กว่าจะกลับมาทำการบันทึกใหม่ก็ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ๒๔๘๕ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการบันทึกโน้ตสากลทางเพลงไทยก็คือ หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โน้ตเพลงไทยที่บันทึกถึงสองครั้งนั้น รวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๗๕ เพลง แต่ขอประทานโทษเถอะครับ โน้ตเพลงไทยที่บันทึกถึงสองครั้งนั้น โน้ตเหล่านี้ไปปรากฎอยู่ในต่างประเทศ โดยการถ่ายสำเนาโน้ตเพลงทั้งหมดเป็น ไมโครฟิล์มและเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดดนตรีของเขาที่ประเทศอังกฤษและอเมริกา แต่ทว่าที่ประเทศเราเหลือน้อยเต็มที

วงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ หรือวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ทั้ง ๓ นี้ถือกำเนิดมาจากที่เดียว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จนถึงปัจจุบันนี้ คุณครูเอื้อท่านจึงใช้หลัก ๓ ประการเป็นโครงสร้างเข้าไปประยุกต์ในแนวการบรรเลง ทั้งลีลา ทั้งสำเนียง เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงไม่เหมือนกับการบรรเลงของวงดนตรีทั่วๆ ไป เพลงของท่านทุกเพลงทั้งๆ ที่มีโน้ตเพลงเป็นหลักฐานบันทึกไว้ก็จริง แต่เวลาบรรเลงจริงๆ แล้วจะมีสำเนียงที่ผิดแผกไปจากโน้ตเดิม ทั้งนี้ ... เพราะว่าท่านใช้วิธีการเช่นเดียวกับ ทางของเพลงไทยเข้าไปผสมเสียงจึงกลมกลืนและกลมกล่อม ( Consonant ) ต่อเนื่องไปด้วยความไพเราะ มีบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วนักดนตรีที่บรรเลงจะจำ ทางที่ท่านบอกให้ได้ยังไง อันนี้ไม่ยากเลยขอรับ เอาล่ะ ... ผมจะเล่าให้ท่านฟังอย่างละเอียด 

ในการบันทึกแผ่นเสียงของวงดนตรีสุนทราภรณ์แต่ละครั้ง กว่าจะได้เพลงแต่ละเพลง นักดนตรีแต่ละคนต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ จะต้องใช้ความสามารถที่เรียนมาทั้งหมดในด้านการดนตรี เพื่อนำมาใช้ในการบันทึกเสียง จนหลับตาแล้วยังสามารถบรรเลงเพลงนั้นๆ ได้เลย โดยมิต้องไปเพ่งมองดูโน้ตให้เสียเวลา สาเหตุก็เพราะว่าครูเอื้อท่านจะลงมือซ้อมและปรับเพลงในแนวทางใหม่ที่ท่านคิดไว้ จากโน้ตที่มีอยู่เดิมแล้วให้เป็นทางที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยการแนะว่าให้แซกโซโฟนเป่าอย่างนี้เมื่อถึงตอนนั้น หรือให้ทรัมเปตเป่าอย่างนั้นเมื่อถึงตอนนี้ จนกว่านักดนตรีทุกคนภายในวงจะเป่าตามสำเนียงลีลาตามที่ท่านได้ประดิษฐ์ไว้จนแม่นยำ

วิธีการของท่านมีแปลกๆ คือ ซ้อมจากเช้าไปถึงบ่าย ถ้ายังไม่ได้ก็จะซ้อมจากบ่ายไปถึงเย็น ถ้ายังไม่ได้ดังใจนึกก็จะเพิ่มการซ้อมจากเย็นไปจนถึงดึก ถ้ายังจำไม่ได้อีกก็จะสั่งงดวันนั้น ยกยอดไปบันทึกเสียงในวันรุ่งขึ้น เห็นมั้ยครับท่านว่าเพลงแต่ละเพลงนั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีของท่านทุกรูปแบบ ถึงจะนำออกมาเผยแพร่เป็นแผ่นเสียงที่มีคุณภาพ มิใช่อัดเสียงแบบสุกเอาเผากินที่ทำให้คุณค่าของเพลงบันทึกหมดไปสิ้นไปสลายไป

มีอีกสิ่งหนึ่งที่จะหาได้ยากมากในสมัยนี้ นั่นก็คือ นักดนตรีทุกคนภายในวงจะจำ ทางของท่านที่บอกให้จนฝังสมอง ไม่มีวันลืมทางเพลงของท่านที่วางแนวกำหนดไว้ให้ โดยมิต้องเขียนบันทึกโน้ตไว้เป็นหลักฐานเลยแม้แต่วรรคเดียวหรือประโยคเดียว ข้อนี้แหละ...มีนักดนตรีต่างวงหลายคนเคยบอกกับผมว่า เฮอะ ... เพลงของคณะสุนทราภรณ์นั้นเล่นง่ายๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย ผมยิ้มอยู่ในใจ ประเดี๋ยวเถอะจะได้รู้ว่าเพลงยากหรือง่าย ขึ้นต้น ลงท้าย รับกลาง แล้วก็จบ ครั้นเมื่อเพื่อนนักดนตรีต่างวงเหล่านั้นมาร่วมวงกลับบอกว่าเพลงอะไรวะ ... ยากฉิบหะ ... ขึ้นต้นก็ยังดีๆ อยู่ เล่นไปเล่นมาจับต้นชนปลายไม่ถูก กว่าจะเข้าใจและจับต้นชนปลายถูก เพลงเขาก็เล่นจบไปแล้ว เลยงงเป็นไก่ตาแตก ตั้งแต่นั้นมาพวกเพื่อนเหล่านั้นไม่กล้ามาแทนอีกเลย

ไหน ... ใครว่าเพลงสุนทราภรณ์ง่ายยังไงล่ะ พอโดนเข้าจริงแทบจะวิ่งหนีก่อนดนตรีเลิกซะอีก

ด้วยเหตุผลดังนี้ล่ะ ที่บางท่านส่งคนมาขอโน้ตเพลงไปลอก เพื่อจะนำมาใช้ในการบรรเลง เล่นเท่าไหร่ๆ มันก็ไม่เหมือนกับที่วงจริงเขาเล่นซักที โธ่ ... อย่าว่าแต่คนนอกวงเลย แม้กระทั่งคนในวงเองบางคนถึงกับต้องทำเครื่องหมายไว้ว่า เมื่อถึงตรงนี้กลับย้อนไปตรงโน้น แล้วเว้นไว้ไปลงที่เก่า แล้วกลับขึ้นต้นใหม่ ท่านอ่านแล้วเวียนหัวมั้ยครับ ที่บอกมาทั้งหมดนี้เขาใช้วิธีเอาดินสอขีดเป็นเส้นอย่างกับแผนที่หรือว่าใยแมงมุมถึงอย่างนั้นเวลาเล่นจริงยังเล่นไม่ถูกเลย

นี่แหละ ... การบรรเลงดนตรี ทางครูเอื้อฯ ท่านเชื่อหรือยังครับ ?

   กลับหน้าหลัก

 

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola